สำหรับคนทำ SEO “Content is King?” เป็นประโยคที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า “บทความคือพระเจ้า” ในการทำเว็บไซต์ พวกเขาจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์การเขียนบทความ เพื่อเพิ่ม traffic ให้กับเว็บไซต์ แต่ที่จริงแล้ว แม้ว่าบทความจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ traffic เพิ่มขึ้นเสมอไป
กราฟนี้ถูกจัดทำขึ้นโดย Neil Patel นักการตลาดชื่อดัง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำเว็บไซต์ และชำนาญเทคนิค SEO โดยเป็นกราฟที่แสดงให้เห็นว่า บทความที่ติดอันดับอยู่บนหน้าผลการค้นหาเป็นหน้าแรกของ Google มักจะเป็นบทความที่มีจำนวนคำประมาณ 1,890 คำ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บทความที่มี 1,890 คำจะทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับผลการค้นหาอย่างอัตโนมัติ กราฟนี้เพียงแค่แสดงให้เห็นว่า ในบทความหนึ่งนั้น มีจำนวนคำไม่น้อยเลย
ปัญหาก็คือมีบางเว็บไซต์ ที่ไม่ว่าจะพยายามเขียนหรือปรับเนื้อหาของบทความยังไง traffic ก็ไม่กระเตื้องขึ้นเลยสักนิด
แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก Neil Patel ได้รวบรวมวิธีที่จะช่วยให้คุณฝ่าวิกฤตบทความและ traffic นี้ไปได้ แต่คุณควรรู้ก่อนว่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บทความทางการตลาด และบทความอื่นๆ ที่จะดึงดูดใจผู้อ่านนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และนั่นคือความท้าทายครั้งใหญ่ที่รอคุณอยู่
“มีเว็บไซต์มากกว่า 440 ล้านเว็บทั่วโลก”
จากผลสถิติที่ Neil ค้นหา เขาพบว่ามีเว็บไซต์มากกว่า 440 ล้านเว็บทั่วโลก แต่ถ้าหากว่านับเป็นจำนวนบล็อก ผลลัพธ์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะแค่เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Tumblr เว็บเดียวก็มีมากกว่า 400 ล้านบล็อกเข้าไปแล้ว
ซึ่งจำนวนเว็บไซต์มหาศาลนี้ได้ส่งผลกระทบกับคุณโดยตรง เพราะมันทำให้เป็นเรื่องยากขึ้น ที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณเป็นที่รู้จัก
ผู้คนมีตัวเลือกในการค้นหาเว็บไซต์มากขึ้น แถมจำนวนเว็บก็ยังมีมากมายให้ตัดสินใจคลิกเข้าไปดู แล้วคุณควรทำยังไงดีเพื่อให้ผู้คนสนใจเว็บของคุณมากกว่าเว็บอื่นๆ? อดใจรออีกนิด แล้วเราจะมาร่วมหาคำตอบผ่านบทความนี้ไปด้วยกัน
ทำไมบทความถึงไม่ส่งผลดีเท่าเมื่อก่อน?
คุณเดาได้หรือไม่ว่าคำตอบของคำถามข้างบนนี้คืออะไร? ใช่แล้วล่ะ คำตอบก็คือ เป็นเพราะว่ามีเว็บไซต์เยอะมากเกินไป ทำให้คุณมีคู่แข่งอย่างล้นหลาม ไม่ว่าคุณจะมีไอเดียที่ดีเลิศแค่ไหน แต่คู่แข่งก็อาจจะคิดแล้วลงมือทำตัดหน้าคุณไปแล้ว ต่อให้คุณเขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด หรือปัจจุบันทันด่วนยังไง ก็ยังมีคู่แข่งที่โพสต์ตัดหน้าคุณไปเพียงแค่ไม่กี่นาทีอยู่ดี
ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใช้งานที่ค้นหาคีย์เวิร์ดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนคู่แข่งของคุณในแต่ละวันก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
จากผลการสำรวจคีย์เวิร์ดกว่า 619,718,788 คำทั่วโลกของ Ubersuggest พบว่ามีเพียงแค่ 24,593,402 คำเท่านั้น ที่ถูกค้นหามากกว่าหนึ่งหมื่นครั้งขึ้นไป
และไม่ว่าคุณจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นแค่ไหน แต่คู่แข่งของคุณก็จะยังคงอยู่
ยกตัวอย่างเช่น บทความทาง SEO ของ Neil ที่ติดอันดับผลการค้นหาและอยู่ในหน้าแรกของ Google ก็ยังต้องเจอคู่แข่งกว่า 581 ล้านเว็บไซต์!
ถ้าคุณอยากเป็นหนึ่งในเจ้าของคีย์เวิร์ด 24,593,402 คำนั้น คุณก็ต้องเตรียมใจที่จะเจอคู่แข่งจำนวนนับไม่ถ้วน และแน่นอนว่าคุณสามารถเพิ่ม traffic จาก long-tailed keyword ได้เช่นเดียวกัน แต่จำนวนคู่แข่งก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
แนวทางในการเปลี่ยนกลยุทธ์ของคุณ
อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า ไม่ว่าคุณจะมีไอเดียอยากเขียนเรื่องอะไรก็ตาม มักจะมีคนที่คิดเช่นเดียวกับคุณและลงมือทำตัดหน้าไปแล้ว
อย่างกรณีของ Neil Patel ในช่วงเริ่มแรกนั้น Neil ได้เขียนบทความแรกของเขาภายใตัหัวข้อ “Winning the Search Engine Marketing War” ซึ่งมีความยาวเพียงแค่ 412 คำ ซ้ำยังไม่มีรูปภาพประกอบ และไม่มีลิงก์ใดๆ เลย
แต่ Neil เขียนบทความนี้เมื่อปี 2005 ซึ่งการแข่งขันทางบทความนั้นแตกต่างกับปัจจุบันโดยสิ้นเชิง และ Facebook ก็ยังไม่ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจออนไลน์อีกด้วย
“แต่ทำไมบทความของ Neil ถึงยังให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจล่ะ?”
นั่นก็เป็นเพราะบทความของเขามีความใหม่ และไม่เหมือนใครนั่นเอง เมื่อเป็นเรื่องใหม่ ผู้คนก็ย่อมสนใจและอยากรู้ จนกระทั่งมองข้ามความยาวของบทความไปเลย
มีโอกาสสูงมากในปัจจุบันนี้ ที่ผู้คนจะเคยอ่านบทความที่มีเนื้อหาคล้ายกับบทความของคุณมาแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผล ที่พวกเขาไม่สนใจและไม่แชร์บทความของคุณเลย เราจะอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น
สมมุติว่ามีคนอยู่ 10 คน มี 8 คนที่อ่านหัวข้อของบทความของคุณ แต่มีแค่ 2 คนเท่านั้น ที่คลิกเข้ามาอ่านเนื้อหาเต็มจริงๆ ความคล้ายและคีย์เวิร์ดที่ซ้ำกันทำให้ผู้อ่านเมินบทความของคุณได้อย่างง่ายดาย
ต่อให้คุณจะเขียนบทความจำนวน 1,890 คำพอดีเป๊ะ แต่ถ้าไม่มีความแปลกใหม่ และไม่มีเอกลัษณ์ ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเข้ามาอ่านอยู่ดี เราลองมาเสิร์ชคำว่า “SEO tips” กันดูสักหน่อย คุณจะพบว่ามีกว่า 3,630,000 เว็บไซต์ที่กำลังแข่งขันกันอยู่
สังเกตได้ว่าเว็บไซต์ที่ติดอันดับอยู่บนหน้าแรกของ Google นั้น ล้วนมีชื่อเรื่องที่คล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่ต่างกัน คือจำนวนวิธีหรือตัวเลขที่พวกเขาเลือกนำมาใช้ บางเว็บไซต์ 12 บางเว็บ 17 หรือ 10 ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีสร้างเอกลักษณ์ให้กับเว็บไซต์ของพวกเขา
วิธีการเขียนบทความที่แปลกใหม่
การที่คุณจะสร้างสิ่งใหม่ได้นั้น คุณจะต้องแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของคุณ เพราะชีวิตของคุณไม่มีทางซ้ำใครแน่นอน ถ้าคุณสามารถนำประสบการณ์ของคุณใส่เข้าไปในบทความได้ ผลลัพธ์จะต้องออกมาดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ยกตัวอย่างเช่น บทความของ Neil ที่ติดอันดับก็ล้วนมาจากประสบการณ์ของเขา เช่น “My New SEO Tool: Ubersuggest 2.0” หรือ “I Wish I Never Built a Personal Brand” แค่จากเชื่อเรื่อง คุณก็คงพอเดาได้แล้วว่าเกี่ยวกับสิ่งที่ Neil เคยพบเจอมาทั้งนั้น
ซึ่งเคล็ดลับการตั้งชื่อบทความของ Neil นั้น ดึงดูดคนอ่านได้มากกว่าชื่อเรื่องอย่าง “10 Ways to Double Search Traffic” หรือ “How to Rank on Google”
ความเป็นเอกลักษณ์จากประสบการณ์ของคุณจะเพิ่มความน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้มากขึ้น จนกระทั่งตัดสินใจคลิกเข้ามาอ่าน แต่ไม่ใช่แค่ชื่อบทความเท่านั้นที่สำคัญ คุณจำเป็นจะต้องเตรียมเนื้อหาที่น่าประทับใจไว้ด้วย เพื่อไม่ทำให้ผู้อ่านที่คลิกเข้าไปอ่านบทความของคุณต้องผิดหวัง โดยเรามีไอเดียที่ช่วยให้คุณเขียนบทความที่อิงจากประสบการณ์ของตัวเอง ดังต่อไปนี้
Buzzsumo
ถ้าคุณพิมพ์คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของคุณลงไป คุณก็จะได้เห็นผลการค้นหายอดนิยมขึ้นมาตามรูปด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการคัดลอกชื่อเรื่องจากบทความที่มีชื่อเสียง หากคุณสามารถประยุกต์เอกลักษณ์ หรือประสบการณ์ของคุณเข้าไปในชื่อบทความได้ มันจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจได้มากกว่า
คราวนี้เรามาพูดถึง Buzzsumo กันบ้าง โดยข้อดีของ Buzzsumo คือ คุณสามารถย้อนดูสิ่งที่เคยเป็นที่นิยมหรือถูกพูดถึงได้ ไม่ว่าจะเมื่อ 5 ปีก่อน 6 เดือนก่อน หรือเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ตาม เพื่อที่คุณจะได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ผู้คนสนใจได้มากขึ้น
ด้วยฟีเจอร์นี้ของ Buzzsumo ก็จะทำให้คุณเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น และทำให้รู้ว่าคุณควรปรับตัวยังไงให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้
Google Trends
Google Trends แตกต่างกับ Buzzsumo ตรงที่สามารถแสดงสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าผู้คนกำลังสนใจอะไรอยู่ ณ วินาทีนี้ Google Trends จะบอกคุณทั้งหมด
และคุณยังเลือกประเภทของสิ่งที่กำลังอยู่ในเทรนด์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณยังดูว่าเรื่องยอดนิยมประจำวันนั้นมียอดเสิร์ชอยู่ที่เท่าไรได้เช่นกัน
Google Trends ยังให้คุณเลือกได้ว่าจะดูเทรนด์ของประเทศอะไร ดังนั้น คุณจึงจับจุดได้ว่าควรจะเลือกเขียนบทความเกี่ยวกับอะไร ที่จะทำให้คนในประเทศของคุณสนใจได้ แต่ Google Trends เองก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ได้รับความนิยมเช่นกัน คุณจึงอาจมีคู่แข่งไม่น้อย แต่ถ้าคุณนำประสบการณ์ส่วนตัวมาประยุกต์กับเทรนด์ต่างๆ ได้ บทความของคุณก็จะโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้เอง
SurveyMonkey
หากเว็บไซต์ของคุณพอจะมีผู้เข้าชมอยู่บ้างแล้ว สิ่งที่ง่ายที่สุดในการเลือกหัวข้อของบทความก็คือ ถามผู้เข้าชมเว็บของคุณตรงๆ เลย ว่าพวกเขากำลังสนใจอะไรอยู่
ซึ่งตัวช่วยในกลยุทธ์นี้ก็คือ การทำแบบสำรวจ คุณสามารถใช้ SurveyMonkey เป็นตัวกลางในการถามคำถามได้ คุณอาจจะตั้งคำถาม เช่น “คุณอยากเห็นอะไรในเว็บไซต์ของเรา?” หรือ “ คุณอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมไหม?” หรือ “คุณมีปัญหาอะไรที่อยากให้เราช่วยหรือเปล่า?” เป็นต้น
การทำผลสำรวจและถามคำถามเหล่านี้ จะทำให้คุณได้ไอเดียชั้นเยี่ยม เพื่อนำไปต่อยอดในการเขียนบทความ แต่คุณควรเก็บคำตอบให้ได้จากผู้เข้าชมเว็บไซต์ 30 คนขึ้นไป เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ว่า ผู้เข้าชมเว็บของคุณส่วนใหญ่มีความสนใจในเรื่องอะไร
Problogger Job Board
หากคุณต้องการใช้ข้อมูลและผลการวิจัยที่คุณมีอยู่แล้วมาใช้ในการเขียนบทความ การจ้างทีมงานจาก Problogger Job Board ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะ Problogger Job Board จะช่วยย่อยข้อมูลของคุณ ให้ออกมาเป็นบทความที่เข้าใจง่ายและน่าอ่าน เตรียมพร้อมให้คุณโพสต์ลงเว็บไซต์ต่อไป หรือถ้าคุณไม่มีข้อมูลก็ไม่เป็นไร Problogger Job Board จะทำการค้นคว้า และรวมรวมข้อมูลที่เป็นเอกลักษณ์มาเขียนเป็นบทความให้คุณได้เช่นกัน
นอกจากนี้ Problogger Job Board ยังช่วยแชร์และโฆษณาบทความของคุณ เพื่อให้มีคนรู้จักเว็บไซต์ของคุณเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทำไมคู่แข่งของคุณยังทำผลงานได้ดี แม้ว่าจะเขียนบทความทั่วไป?
เป็นความจริงที่แม้ว่าคุณจะเขียนบทความออกมาได้ดี และติดอันดับบนหน้าผลการค้นหาของ Google แล้ว แต่คู่แข่งนับล้านของคุณก็ยังคงมีบทความที่ติดอันดับสูงๆ ได้ แม้ว่าจะเป็นบทความธรรมดา ที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะเว็บไซต์เหล่านั้นมีชื่อเสียงและอิทธิพลมากพอ ที่จะทำให้การติดอันดับบนหน้าค้นหาไม่ใช่เรื่องยาก
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ Huffington Post และ Entrepreneur สองเว็บไซต์ดังโพสต์บทความ บทความของสองเว็บนี้จะติดอันดับภายในเวลาไม่นาน เพราะพวกเขามี brand query มี backlinks และมียอดแชร์ในโซเชียลมีเดียที่ดี
หากคุณมี brand query มากกว่า 20,000 ต่อเดือน และมีโดเมนมากกว่า 60 คุณก็สามารถเขียนบทความทั่วไปแล้วประสบความสำเร็จได้
หากคุณมีคุณสมบัติตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และตามรูปภาพด้านบน คุณก็ลงมือเขียนบทความทั่วไปได้เลย แต่ถ้าคุณไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ การเขียนบทความที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
แม้ว่าคุณจะเป็นหน้าใหม่ในแวดวงธุรกิจและเว็บไซต์ คุณก็สามารถนำประสบการณ์ชีวิตของตัวคุณเอง หรืออ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้อื่น เพื่อนำมาใช้ในบทความได้ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคุณ ย่อมเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนสนใจ และอยากอ่านบทความของคุณมากขึ้น
แต่ถ้าคุณยังคิดไม่ออกว่าจะนำเรื่องราวของตัวเองมาปรับใช้ในบทความยังไง คุณก็สามารถใช้วิธีรวบรวมสถิติ และจัดอันดับ แล้วนำมาเขียนเป็นบทความได้ เพราะบทความประเภทนี้ก็เรียกความสนใจของผู้คนได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน
อ้างอิงจาก https://neilpatel.com/blog/future-content-marketing/