ในการสร้าง Content ที่ดีนั้น หนึ่งในสิ่งสำคัญหลายประการที่ควรทำคือการแบ่ง Content ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน และสิ่งที่ใช้ในการแบ่ง Content รวมถึงเป็นเครื่องเน้นย้ำความสำคัญของข้อความนั้นคือ หัวเรื่อง (Heading)
ในหนึ่งโพสต์นั้นสามารถมีได้หลายหัวเรื่อง โดยปกติแล้วแท็ก <H1> ของ HTML จะใช้สำหรับชื่อเรื่องของโพสต์นั้น และเป็นส่วนหัวอันแรกที่สามารถเห็นได้บนเว็บเพจ การจัดรูปแบบของ H1 มักจะแตกต่างจากแท็กหัวเรื่องอื่นๆ ในส่วนที่เหลือของเว็บเพจ เช่น H2, H3 หรือ H4
แท็ก H1 คืออะไร?
แท็ก <H1> ของ HTML เป็นแท็กหัวเรื่องอันแรกที่จะมองเห็นได้บนเว็บเพจ ใช้สำหรับหัวเรื่องหลักของโพสต์ เมื่อดูในส่วนของโค้ด HTML จะเห็นอยู่ในรูปแบบของแท็ก <h1></h1>
เพื่อทำให้ข้อความโดดเด่น H1 จึงมักจัดรูปแบบแตกต่างจากแท็กอื่นๆ ในเว็บเพจนั้น
ดังเช่นตัวอย่างนี้ หากใช้แท็ก H1 กับคำว่า “On-Page SEO” คุณก็จะเห็นในส่วนของโค้ด HTML ว่า <h1>On-Page SEO</h1>
วิธีที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจในการใช้แท็ก H1 คือ จินตนาการว่าคุณกำลังร่างเอกสารชิ้นหนึ่งอยู่ หัวข้อหลักของคุณก็คือ <H1> ประเด็นหลักคือ <H2> และประเด็นย่อยคือ <H3>
แท็ก H1 และ หัวข้อของเว็บเพจ (Page Title) หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำ SEO นั่นคือ แท็ก Title (<title></title>) และไม่ควรเข้าใจสับสนกับแท็ก H1
ลองมาดูกันว่า 2 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร และทำไมคุณจึงควรใส่ใจกับมัน
ความแตกต่างระหว่าง แท็ก H1 และ แท็ก Title
– แท็ก Title จะแสดงบนหน้าผลลัพธ์การค้นหาของเครื่องมือค้นหา มักถูกใช้เป็นหัวเรื่องหลักของตัวอย่างบนหน้าผลรวมการค้นหา
– แท็ก Title จะไม่ปรากฎให้เห็นใน Content บนเว็บเพจของเรา แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของหัวเรื่องของเว็บเพจ <header></header> และปรากฎในหัวเรื่องของเบราว์เซอร์
– แท็ก H1 จะปรากฎในส่วนของ Content ของเว็บเพจ
– ในขั้นตอนการการรวบรวมข้อมูลของเครื่องมือค้นหา แท็ก Title เป็นสิ่งที่บอกว่า Content ของเว็บเพจนี้เกี่ยวข้องกับอะไร
เมื่อพูดถึงปัจจัยภายในของการทำ SEO แท็ก Title นั้นมีความสำคัญมากกว่าแท็ก H1 แต่เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คุณควรทำการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งสองอย่าง
ทำไมแท็ก H1 จึงสำคัญสำหรับ SEO
หนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเครื่องมือค้นหาคือการทำความเข้าใจความหมายของเว็บเพจ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เครื่องมือค้นหานั้นจะใช้ข้อมูลจากหลายด้านประกอบกัน ซึ่งตัวบ่งบอกความหมายของเว็บเพจนั้นคือ แท็ก Title และ แท็ก H1
เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลเกิดขึ้น ซอฟต์แวร์ของเครื่องมือค้นหาจะอ่านโค้ด HTML และพยายามจะระบุว่าประโยคใดคือแท็กหัวเรื่องบ้าง เช่น H1, H2 และอื่นๆ และเครื่องมือค้นหาจะคิดว่านั่นคือสิ่งที่บ่งบอกความหมายของ Content
และหากคุณใส่ Keywords ลงไปในแท็ก H1 นั่นจะเป็นการช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจได้ดีขึ้นว่าเว็บเพจของคุณนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร
อีกเหตุผลที่ทำให้หัวเรื่องนั้นมีความสำคัญกับ SEO คือการทำให้ผู้ใช้งานสามารถสำรวจเว็บเพจของคุณได้ง่ายขึ้นด้วย
ผู้ใช้งานสามารถมองภาพรวมของเว็บเพจได้โดยการดูที่แท็ก H1 ส่วนหัวเรื่องถัดไป เช่น H2 หรือ H3 จะเป็นตัวบ่งบอกว่าในแต่ละส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
แนวทางปฏิบัติในการทำ SEO สำหรับการใช้แท็ก H1
ต่อจากนี้จะเป็นวิธีการใช้หัวเรื่องสำหรับบทความ หรือ Content ของคุณโดยทั่วไป
– แท็ก H1 ควรเหมือน หรือแตกต่างจากแท็ก Title เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วแท็ก Title กับแท็ก H1 นั้นจะเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะระบบการจัดการ Content (เช่น WordPress) กำหนดให้เป็นแบบนั้น
แต่ในบางกรณีที่ แท็ก Title กับแท็ก H1 นั้นไม่เหมือนกัน ซึ่ง Google ได้อธิบายไว้ดังนี้
และจากตัวอย่างนี้
จะเห็นได้ว่าแท็ก Title นั้นคือ “On-Page SEO Techniques” ในขณะที่แท็ก H1 เป็น “On-Page SEO”
เพราะแท็ก Title นั้นมีความหมายกับการทำ SEO มากกว่า เนื่องจากจะถูกแสดงบนหน้าผลรวมการค้นหา แต่ในส่วนของแท็ก H1 นั้นต้องการแสดงสิ่งที่เรียบง่ายมากกว่า
เราจะใช้แท็ก Title และ แท็ก H1 ที่แตกต่างกันได้อย่างไร?
ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ธีมและแพล็ตฟอร์มส่วนใหญ่ของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์นั้นกำหนดให้ใช้ประโยคเดียวกันสำหรับแท็ก Title และ แท็ก H1
หากคุณต้องการใช้ประโยคที่แตกต่างกัน คุณสามารถแก้ไขในส่วนของโค้ด HTML ได้ หรือหากคุณใช้ WordPress คุณสามารถติดตั้งปลั๊กอิน เช่น Yoast SEO เพื่อใช้งานได้
ดังที่คุณจะเห็นในตัวอย่างด้านล่าง เมื่อคุณติดตั้ง Yoast SEO คุณจะเห็นช่องว่างด้านล่างสำหรับทุกโพสต์ เพื่อให้สามารถใส่แท็ก Title ลงไปในช่องนั้นได้
ใช้ Keywords ในส่วนของหัวเรื่อง
ขอแนะนำให้ใส่ Keywords ลงไปในหัวเรื่องของคุณด้วย เพราะ Keywords นั้นควรมีอยู่ทั้งในส่วนของแท็ก Title และแท็ก H1
หากคุณเลือกที่จะใช้ข้อความที่แตกต่างกันระหว่างแท็ก Title และแท็ก H1 คุณควรใส่ Keywords หลักลงไปในส่วนของแท็ก Title และใส่ Keywords ที่เกี่ยวข้องลงไปในแท็ก H1
โดยทั่วไป Keywords ที่มีความเฉพาะเจาะจงจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้งานสำหรับ H1 และหัวเรื่องอื่นๆ ของคุณ
หลีกเลี่ยงหัวเรื่องที่มีความยาวมาก
อย่าทำให้หัวเรื่องของคุณมีความยาวมากจนเกินไป ควรใช้คำสั้นๆ แต่สามารถอธิบายความหมายได้ ให้ใช้กฎเดียวกับการตั้งชื่อหัวข้อเรื่อง คือมีความยาวไม่เกิน 65 ตัวอักษร
หากคุณต้องการคำอธิบายที่มีความยาวมากขึ้น ให้คุณใช้หัวเรื่องสั้นๆ แล้วสร้างคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้านล่าง ดังตัวอย่าง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแท็ก H1 ของคุณนั้นสามารถมองเห็นได้ และไม่ถูกซ่อนไว้
ธีมของ WordPress ส่วนใหญ่จะมีแท็ก H1 อยู่ในส่วนของ HTML แต่มักจะถูกซ่อนไว้ไม่ให้ผู้ใช้งานเห็น
วิธีการแก้ไขอย่างง่ายคือ ดูแหล่งที่มาของเว็บเพจโดยการคลิกขวา และเลือก view source แล้วค้นหา H1
และข้อความที่คุณเห็นอยู่ในโค้ด <h1></h1> ควรจะปรากฎให้เห็นได้บนเว็บเพจ
ควรทำให้ H1 ของคุณแตกต่างจากหัวเรื่องอื่นๆ โดยการทำให้ตัวอักษรมีขนาดใหญ่กว่าและทำเป็นตัวหนา
ใช้หัวเรื่องในลักษณะของการเป็นลำดับขั้น
ดังที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นของบทความว่า ให้ลองคิดว่าการเขียนหัวเรื่องนั้นเป็นเหมือนการร่างหนังสือหรือเอกสารที่มีความยาว
สิ่งสำคัญสำหรับการทำ SEO คือ ต้องใช้แท็กของคุณในลักษณะเป็นลำดับขั้น มิฉะนั้นคุณอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานหรือเครื่องมือค้นหาได้
กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า <h1> ของคุณ ควรอยู่ด้านบนสุดของโค้ด HTML และตามมาด้วย H2, H3 ตามลำดับ
สังเกตได้ว่า ขนาดของตัวอักษรมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับขั้นของหัวเรื่อง
ใช้เพียง H1 เดียวต่อหนึ่งหน้าเอกสาร
แนวทางการทำ SEO ได้ระบุไว้ว่าจะเป็นการดีที่สุดหากมีแท็ก H1 เพียงแท็กเดียวต่อหนึ่งหน้าเอกสาร และคุณควรยึดสิ่งนี้เป็นแนวทางปฏิบัติของคุณ
ในกรณีที่คุณมี H1 หลายแท็กในหนึ่งหน้าเอกสารก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยสามารถศึกษาได้จากวีดีโอด้านล่างนี้
อ้างอิงจาก https://youtu.be/WsgrSxCmMbM
แท็ก H1 ควรตรงกับเจตนาของผู้ใช้งาน
อย่าลืมเรื่องเจตนาของผู้ใช้งานเมื่อคุณทำการเขียน H1 ของคุณ หากคุณเขียน H1 ของคุณไม่ตรงกับเจตนาในการค้นหาของผู้ใช้งาน พวกเขาอาจจะออกไปจากเว็บไซต์ของคุณโดยที่ไม่อ่านอะไรเลยก็ได้
คุณไม่เพียงสูญเสียลูกค้าหรือผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อ SEO ของคุณอีกด้วย
พฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เข้าชมเว็บไซต์แล้วกดกลับไปยังหน้าผลรวมการค้นหาใหม่อีกครั้งเพราะรู้สึกไม่ชอบใจกับเว็บไซต์ที่เรียกดูขึ้นมานั้นเรียกกันในชื่อ “pogo-sticking” และสิ่งนี้สามารถสร้างผลเสียให้กับการจัดอันดับของคุณในระยะยาวได้
ตรวจสอบให้แน่ใจว่า H1 ของคุณ สามารถตอบเจตนาของผู้ค้นหาได้เมื่อพวกเขาคลิกเข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณ
ตัวอย่างการใช้แท็ก H1: ลองทบทวนจากตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีการใช้แท็ก H1 ที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจว่าหลักการที่ได้ศึกษาไปนั้นสามารถนำมาปฏิบัติจริงได้อย่างไร
ตัวอย่างที่ 1: แท็ก H1 ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมโดยการใช้แท็ก Title ที่สั้น และถูกหลัก SEO
ตัวอย่างที่ 2: สำหรับแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก H1 สามารถใช้เป็นชื่อของแบรนด์ได้ และแท็ก Title สามารถใช้เป็น Keywords ได้
ตัวอย่างที่ 3: เป็นเรื่องที่ดีถ้าใช้ประโยคเดียวกันทั้งส่วนแท็ก H1 และแท็ก Title
หลักการที่อธิบายมาทั้งหมดข้างต้น สามารถนำมาใช้กับแท็ก H2, H3 หรือ H4 ได้เช่นเดียวกัน
ข้อควรทราบ
– อย่าใช้แท็กหัวเรื่อง หากการใช้ตัวหนาหรือตัวเอียงมีความเหมาะสมมากกว่า
– อย่าใช้แท็กหัวเรื่องมากจนเกินไป ใช้เฉพาะในส่วนที่สำคัญกับโครงสร้าง ใช้ในการนำทางผู้อ่าน และใช้เพื่อแยกส่วนของ Content เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน
– ไม่จำเป็นต้องมีแท็กหัวเรื่องย่อยมากจนเกินไป คุณสามารถใช้แค่ H1 และ H2 เท่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยาวและประเภทของ Content
– จัดให้มีความเหมาะสมระหว่างการใช้หัวเรื่องและองค์ประกอบการจัดรูปแบบอื่นๆ
แท็กหัวเรื่องในส่วนของ HTML คืออะไร?
HTML หรือ HyperText Markup Language คือภาษาที่ใช้แสดงเว็บเพจบนเบราว์เซอร์ ซึ่งมีแท็กต่างๆ ที่สามารถใช้ในการสร้างหัวเรื่องของเอกสาร
ซึ่งคล้ายกับการสร้างหัวเรื่องบน Microsoft Word เมื่อคุณต้องการให้ประโยคไหนโดดเด่น คุณก็สามารถกำหนดรูปแบบให้เป็นหัวเรื่อง 1 หัวเรื่อง 2 และอื่นๆ ได้
หัวเรื่องใน Microsoft Word สามารถใช้เพื่อแยกเอกสารให้เป็นส่วนๆ หรือเป็นแนวทางในการสร้างสารบัญได้
โดยทั่วไปแล้ว การทำให้เอกสารอ่านง่ายขึ้นจะทำได้โดยการแบ่งเอกสารนั้นออกเป็นส่วนเล็กๆ และในแต่ละส่วนจะมีหัวเรื่องที่มีการจัดรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ข้อความขนาดใหญ่ ตัวหนา หรือรูปแบบอื่นๆ
แท็กหัวเรื่องในส่วนของ HTML ก็มีลักษณะเดียวกัน
เมื่อคุณต้องการเน้นความสำคัญให้กับประโยคใดๆ ใน WordPress และตั้งให้ประโยคนั้นเป็นหัวเรื่อง ระบบจะเพิ่มโค้ดต่อไปนี้ลงในส่วนของ HTML
<h1>This is an H1 heading</h1>
โค้ดนั้นจะบอกให้เบราว์เซอร์จัดรูปแบบประโยคนั้นให้แตกต่างจากข้อความส่วนอื่นๆ ดังตัวอย่างด้านล่าง
และถ้าคุณตั้งค่าหัวเรื่องเป็น H2 หรือ H3 โค้ดของ HTML ก็จะเปลี่ยนเป็น
<h2>This is an H2 heading </h2>
<h3>This is an H3 heading </h3>
ดังนั้น หัวเรื่องในส่วนของ HTML ก็คือชิ้นส่วนหนึ่งของโค้ด HTML ที่ใช้ในการระบุหัวเรื่องของหน้าเอกสารนั้น
คุณสามารถทำอะไรเพื่อเป็นการปรับปรุงการทำ SEO ของคุณได้บ้าง?
โดยปกติแล้ว ในการทำ SEO คุณอาจจะพยายามแก้ไขสิ่งที่ดูเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งดูเหมือนไม่มีความสำคัญ แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วมันสามารถพัฒนาการจัดอันดับการค้นหาของคุณได้
ดังนั้น นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพให้แท็ก H1 แล้ว นี่คือรายการสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการทำ SEO ด้วยเช่นกัน
– ตรวจสอบเทคนิค SEO ของคุณเพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องมือค้นหานั้นสามารถเข้าถึง รวบรวมข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลให้กับเว็บไซต์ของคุณได้
– กำหนดค่าเว็บไซต์ของคุณเพื่อใช้ URL ที่เหมาะสมกับการทำ SEO สำหรับเว็บเพจของคุณ
– สร้างเว็บไซต์คุณภาพสูงที่มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
– เขียน Content ที่เหมาะสำหรับการทำ SEO เพื่อมอบคุณค่าที่ดีให้กับผู้ใช้งาน|
– เชื่อมต่อ Content ของคุณเข้าด้วยกันด้วยลิงก์ภายใน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเว็บเพจอื่นๆ ของคุณได้ง่าย
– โปรโมตเว็บไซต์ของคุณโดยมีเป้าหมายเพื่อการรับลิงก์จากเว็บไซต์อื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต
สรุป
การทำ SEO ของคุณไม่ได้เริ่มต้นหรือสิ้นสุดแค่เพียงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแท็ก H1 นั่นเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำ และมันยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด
แท็ก H1 ไม่เหมือนกับปัจจัย SEO อื่นๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ และหากได้รับการปรับแต่งอย่างเหมาะสม คุณสามารถสร้างความแตกต่างในการจัดอันดับการค้นหาของคุณได้
หากขั้นตอนที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้คุณรู้สึกมั่นใจในการทำ SEO ของคุณ ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบ H1 ของคุณ และปรับแต่งให้เหมาะสมสำหรับการจัดอันดับการค้นหาของคุณต่อไป
อ้างอิงจาก https://www.reliablesoft.net/h1-tag/